ประวัติพิพิธภัณฑ์เรือจิ๋ว




ประวัติพิพิธภัณฑ์เรือจิ๋ว




พิพิธภัณฑ์เรือจิ๋วและอู่เรือจิ๋ว ตั้งอยู่ในบ้านเลขที่ ๒/๑๗๓-๑๗๕ หมู่บ้านบัวขาว ซอย ๒๒ ถนนสุขาภิบาล ๓ จัดแสดงเรือจำลองขนาดจิ๋วทั้งเรือไทยและเรือต่างประเทศโดยเจ้าของซึ่งมีฝีมือทางด้านการช่าง และเรือที่ผลิตมีลักษณะเหมือนเรือจริงทุกประการ
พิพิธภัณฑ์เอกชนส่วนใหญ่มักมีความเป็นมาจากการเก็บของรักของสะสมที่ไปเสาะแสวงหามา เมื่อมีจำนวนมากพอจึงนำมาจัดแสดง แต่ในกรณีของพิพิธภัณฑ์เรือจิ๋วแห่งนี้แตกต่างออกไป เมื่อมองภาพรวมจากอดีตถึงปัจจุบันแล้วดูเหมือนว่าพิพิธภัณฑ์เรือจิ๋วจะเกิดจากผลของเหตุการณ์ในอดีตที่ผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องขึ้นมาเป็นทอดๆ ตามลำดับ คล้ายกับเวลาที่นักสนุกเกอร์ใช้ไม้แทงลูกสีขาวไปกระทบลูกสีแดงแล้วไปชิ่งลูกสีดำที่ชนลูกสีชมพูลงหลุม ผลลัพธ์กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เรือจิ๋วและกิจกรรมต่างๆที่เจ้าของเข้าไปมีส่วนร่วม ดังปรากฏเป็นเรื่องราวต่อไปนี้           
คุณฐากร วิบูลกิจธนากร ผู้จัดการทั่วไปของพิพิธภัณฑ์และทายาทของอาจารย์กมล วิบูลกิจธนากร นักต่อเรือผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ และบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม ปีพ.ศ. 2542 เล่าว่า คุณพ่อ(อาจารย์กมล) เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยอาจารย์กมลยังหนุ่มเคยได้รับเกียรติสูงสุดของตระกูลคือได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปเรียนการประกอบเรือใบไมโครมดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โอกาสพิเศษครั้งนั้นเกิดขึ้นได้เพราะมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกิดขึ้นก่อนหน้า ตามที่เราทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักออกแบบและต่อ เรือใบ เมื่อทรงออกแบบเรือใบไมโครมดแล้วทรงตรัสถามความเห็นในกลุ่มคนที่เล่นเรือใบด้วยกันทำนองว่า มีส่วนใดควรแก้หรือไม่” ก็ไม่มีใครแสดงความเห็นว่าควรแก้แต่อย่างใดเว้นแต่พระองค์เจ้าพีระ พระองค์จึงทรงตรัสให้พระองค์เจ้าพีระไปต่อเรือใบตามแบบที่ท่านเห็นว่าควรแก้ไขแล้วนำมาแข่งกับเรือใบที่พระองค์ท่านออกแบบที่สวนจิตรลดา โดยมีเงื่อนไขว่าเรือที่ต่อจะต้องสร้างจากไม้อัดเพียงแผ่นเดียว พระองค์เจ้าพีระไม่มีความรู้ด้านช่างไม้จึงส่งอาจารย์กมลซึ่งเป็นพระสหาย เข้าไปเรียน เมื่อสำเร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าเมื่อทำเป็นแล้วให้ไปสอนคนอื่นด้วย ซึ่งอาจารย์กมลก็เก็บไว้ในใจตลอดมา
เมื่ออาจารย์กมลย้ายมายังที่อยู่ปัจจุบันแล้ว เพื่อนของอาจารย์คนหนึ่งไปพบเศษไม้สักจากโรงงานที่เขาทิ้งกองอยู่จึงรู้สึกเสียดายขนมาให้อาจารย์กมลเพราะเห็นว่ามีฝีมือทางช่าง อาจารย์กมลจึงนำมาต่อเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ต่อมาจึงทำเป็นกระถางและเรือลำเล็กสำหรับจัดดอกไม้ส่งขายร้านดอกไม้ของญาติ นั่นคือจุดเริ่มต้นธุรกิจต่อเรือขนาดเล็ก
เมื่อการทำเรือจำลองของที่นี่เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ รายการ ตามไปดู” ได้ตั้งชื่อให้ว่า  อู่เรือจิ๋ว”  ทำให้มีนักศึกษาหลายคนมาขอเรียนวิธีต่อเรือ ซึ่งอาจารย์กมลก็สอนให้โดยไม่คิดเงินแม้แต่ฝรั่งก็มาขอเรียนด้วย เหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่เหตุการณ์หนึ่งจนถึงคราวที่ท่านทูตโปรตุเกสมาเยี่ยมชม จากฝีมือการสร้างอันประณีตเน้นความถูกต้องตามสัดส่วนเรือจริงทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักในวงการทูต และได้ลูกค้าชาวต่างประเทศหลายราย ต่อมาจึงเพิ่มกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งคือการต่อเรือใบตระกูลมดตามขนาดจริงขึ้นทั้ง 3 แบบ คือ เรือใบมด ซูเปอร์มด และไมโครมด ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งไว้กับอาจารย์กมล ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก สำหรับเรือจำลองที่จัดแสดงมีหลายประเภทหลายขนาดทั้ง เรือไทย เรือจีน และเรือแบบตะวันตก เช่น เรือสำปั้น เรือกระแชงเรือผีหลอกเรือฉลอมเรือสำเภาโบราณเรือกลไฟเรือไวกิ้ง และเรือที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์
เรือเด่นลำหนึ่งของพิพิธภัณฑ์คือ เรือเสด็จประพาสต้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้อมูลจากป้ายเล่าว่า เป็นเรือที่ข้าราชบริพารและประชาชนสร้างถวายแด่พระองค์ท่านเพื่อใช้เป็นเรือพระที่นั่งเสด็จเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ เรือชนิดนี้เรียกกันว่าเรือ แม่ปะหรือเรือหางแมงป่อง เป็นเรือใช้กันอยู่ทั่วไปนำมาตกแต่งใหม่ที่ได้ว่าเรือหางแมงป่องเพราะส่วนท้ายเรือโค้งเชิดขึ้นสูงและปลายเป็นรูปสอง แฉกเหมือนเวลาแมลงป่องยกหางขึ้น บนลำมีเก๋งเรือสองตอน ตอนกลางเป็นที่อยู่ ตอนท้ายเป็นที่เก็บของ เรือลำนี้ได้รับพระราชทานนามว่า เรือสุวรรณวิจิก” ส่วนเรือที่ชาวบ้านใช้สัญจรตามแม่น้ำลำคลองมีหลายชนิด เช่น เรือสำปั้นเป็นเรือพาย เดิมเป็นเรือที่ชาวจีนต่อขึ้นช่างไทยนำมาปรับปรุงให้มีรูปร่างเพรียวขึ้น สวยขึ้น ส่วนหางของเรือจะเชิดสูงกว่าส่วนหัว เรือสำปั้นขนาดเล็กที่นั่งได้คนเดียวเรียกว่า เรือสำปั้นเพรียว” พระสงฆ์ใช้เป็นพาหนะในการบิณฑบาต
ชื่อเรือกระแชงฟังดูอาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าเรือเอี้ยมจุ๊นหลายคนคงนึกภาพออก เรือกระแชงเป็นเรือบรรทุกสินค้าต่อด้วยไม้แล่นตามลำน้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน สินค้าที่บรรทุก เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร ทราย หิน ไม้ฟืน เป็นต้น ลักษณะของเรือมีส่วนท้องใหญ่โค้งรูปรีคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง กงเรือเป็นไม้โค้งวางเรียงกันถี่มากเพื่อรับน้ำหนักสินค้า ข้างเรือใช้ไม้แผ่นหนายึดด้วยสลัก ส่วนดาดฟ้าทำเป็นประทุนครอบใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ทั้งครอบครัว สำหรับคำว่ากระแชงหมายถึงเครื่องบังแดดบังฝนที่ใช้ใบจากมาเย็บเป็นแผง เมื่อนำทำประทุนหรือหลังคาจึงเรียกว่าเรือกระแชง เรือชนิดนี้เคลื่อนที่โดยใช้เรือยนต์ลากจูงถ้าระยะทางไกล ถ้าระยะใกล้จะใช้ถ่อ มักมีเรือสำปั้นผูกอยู่ด้วยเพื่อใช้พายเข้าฝั่งหรือไปจ่ายตลาด
เรือผีหลอก ฟังชื่อแล้วอาจจะนึกจินตนาการถึงเรือผีสิงที่เต็มไปด้วยวิญญาณร้ายอย่างเรือไข่มุกดำ(The Black Pearl) ในหนังเกี่ยวกับโจรสลัดของฮอลลีวูด แต่ความจริงคือเรือประมงน้ำจืดชนิดหนึ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านไว้อย่างน่าทึ่ง ที่ใช้คำว่าหลอกคือหลอกปลาให้กระโดดขึ้นมาบนเรืออย่างง่ายดายจนแทบไม่ต้องเปลืองแรงจับ แต่วิธีนี้คงใช้ได้แต่ในสมัยก่อนที่ยังมีปลาชุกชุมตามแม่น้ำลำคลอง เรือผีหลอกอาจเป็นเรือขุดหรือเรือต่อก็ได้ ลักษณะของท้องเรือค่อนข้างแบน กราบเรือต่ำด้านหนึ่งติดแผ่นไม้ทาสีขาวลาดเอียงลงน้ำ อีกด้านหนึ่งขึงตาข่ายเป็นแนวยาวไปตามลำเรือให้ขอบสูงจากกราบเรือประมาณ 1 เมตร เรือชนิดนี้ออกปฏิบัติการในเวลากลางคืน เมื่อปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำเห็นแผ่นกระดานขาวตัดกับความมืดก็ตกใจกระโดดข้าม แต่ไปไม่รอดเพราะติดตาข่ายที่ขึงรับไว้เรือใบบริเวณด้านหลังห้องมีหลายลำ เช่น เรือใบตระกูลมด ทั้ง3 แบบ ส่วนเรือสำเภามีทั้งแบบตะวันออกและตะวันตก เรือสำเภารูปร่างสวยงามลำหนึ่งมีป้ายอธิบายว่า เป็นเรือสำเภาไทยมาเลย์หรือสำเภาตรังกานู ตามข้อมูลจากป้ายสำเภาชนิดนี้ใช้ทำการค้าระหว่างประเทศในแถบทะเลทางใต้ของประเทศไทยประมาณช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ผนังด้านขวาจัดแสดงเรือจำลองขนาดใหญ่ ลำหนึ่งคือเรือกลไฟแบบตะวันตกซึ่งใช้เครื่องจักรไอน้ำ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าเรือกลไฟลำแรกมาถึงกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนเรือกลไฟลำแรกที่คนไทยต่อเองคือ เรือพระที่นั่ง  สยามอรสุมพล” ตัวเรือเป็นไม้ต่อที่อู่ตรงข้ามท่าราชวรดิษฐ ความยาว 75 ฟุต กว้าง 20 ฟุต เครื่องจักรสั่งซื้อมาจากอเมริกา ขึ้นระวางประจำการ พ.ศ.2398 เรือลำถัดมาคือ เรือประมงอวนลากแผ่นตะเฆ่ เป็นเรือที่ได้รับความนิยมสูงเพราะสามารถออกทะเลลึกและจับสัตว์น้ำได้จำนวนมาก ส่วนบริเวณกลางห้องเป็นเรือรบรุ่นเก่าที่ใช้ใบที่มีชื่อเสียงที่สุดลำหนึ่งในประวัติศาสตร์การรบทางเรือของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสามารถเอาชนะเรือรบของอังกฤษได้ในสมัยสงครามปี ค.ศ.1812 เรือลำนี้มีชื่อว่า CONSTITUTION
นอกจากการจัดแสดงเรือจำลองแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์มีการเรียนการสอนต่อเรือจำลองและสอนเล่นเรือใบของจริงด้วย คุณฐากรเล่าว่า เคยจัดสอนเล่นเรือใบร่วมกับหน่วยงานของรัฐหลายครั้ง บางครั้งก็ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดสอนเล่นเรือใบตามจังหวัดต่างๆ ที่มีแหล่งน้ำจืดเพื่อเผยแพร่การเล่นเรือใบและส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี ที่กว๊านพะเยา แม่น้ำนราธิวาส และสวนรถไฟในกรุงเทพฯ เป็นต้น การเดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องใช้การสังเกตสักหน่อย เมื่อเข้าซอยรามรามคำแหง 174 แล้วให้มองหาป้ายหมู่บ้านบัวขาว ซอยเลขคี่จะแยกไปทางซ้าย ส่วนเลขคู่จะอยู่ทางขวา พิพิธภัณฑ์อยู่ภายในบ้านเดี่ยวสุดซอย 22 พื้นที่ด้านล่างของอาคารใช้ต่อเรือ ส่วนห้องจัดแสดงเรือจำลองอยู่ด้านบน การเข้าชมควรติดต่อล่วงหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น